มรดกโลกทางวัฒนธรรมในอาเซียนและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม


หากจะพูดถึง ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน หรือ ASCC คงน้อยคนนักที่จะรู้จัก และเข้าใจถึงความหมายของ ASCC อย่างแท้จริง เมื่อเทียบกับคำฮอตฮิตติดหู อย่างคำว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ “AEC” ทั้งนี้ เมื่อจะต้องทำความเข้าใจกับคำว่า “ASEAN Community” แล้วนั้น ASEAN Community ซึ่งถือเป็นการบูรณาการร่วมกันในระดับภูมิภาค หรือภูมิภาคนิยม ซึ่งเป็นการรวมตัวกันภายใต้ภูมิภาคอาเซียนหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยมีกรอบความร่วมมือต่าง ๆ เกิดขึ้น ภายใต้สามเสาหลัก คือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประชาคมความมั่นคงอาเซียน และเสาหลักสุดท้าย ก็คือ ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเสาหลักที่มีความสำคัญ ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจร่วมกัน การเป็นเอกภาพร่วมกัน ให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ร่วมกันภายใต้สังคมที่เอื้ออาทร มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และการพัฒนาในทุก ๆ ด้าน รวมถึงเป้าหมายสูงสุด คือ การสร้างอัตลักษณ์ร่วมกันของประชาคมอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างเป็น ทางการในปี 2015 นั้น สอดคล้องกับ Motto หรือคำขวัญของอาเซียน คือ One Vision, One Identity, One Community

พหุวัฒนธรรม : กับการรวมตัวของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC)
หากจะตั้งคำถามว่า ASCC สำคัญอย่างไร  จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีการสร้างประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน คำตอบที่ได้ก็ย่อมมีความแตกต่างหลากหลาย มีความสำคัญมากน้อย แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับมุมมอง หรือความคิดเห็นของแต่ละบุคคล แต่เมื่อเรากลับมาฉุกคิดถึงแนวคิดของการรวมตัวดังกล่าว ก็จะพบว่า เราจะสร้างประชาคมอาเซียนอย่างไร ถ้าเรายังมีความแตกต่างกัน การรวมกันของประเทศต่าง ๆ ทั้งสิบประเทศที่แตกต่างกันทั้งเรื่องวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ภาษา ประเพณี วัฒนธรรม รวมถึงผลกระทบที่เกิดจากกระแสโลกาภิวัตน์ และการขยายจำนวนสมาชิกของอาเซียนจนครบสิบประเทศในปัจจุบัน สำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน มีเป้าหมายให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง สังคมที่เอื้ออาทรและแบ่งปัน ประชากรอาเซียนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีและมีการพัฒนาในทุกด้านเพื่อยกระดับ คุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมอัตลักษณ์ของอาเซียน โดยมีแผนปฏิบัติการด้านสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

ASEAN : การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม
สำหรับการเกิดขึ้นของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ย่อมถือเป็นการเรียนรู้ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลาย ในทัศนะของผู้เขียน มองว่า กระบวนการดังกล่าวจะสามารถขยายความร่วมมือ และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยจำเป็นจะต้องอาศัยกระบวนการการเชื่อมโยงร่วมกัน คือ ASEAN Connectivity ภายใต้การเชื่อมโยงของประชาชนร่วมกัน “People to People Connectivity” ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างการเดินทาง การท่องเที่ยว การไปมาหาสู่ระหว่างกันระหว่างประชาชน การเชื่อมโยงทางสังคม วัฒนธรรม ถือเป็นหัวใจของการเป็นประชาคมอาเซียนที่เป็นหนึ่งเดียวกันอย่างแท้จริง โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ถึงแม้ว่าแต่ละประเทศต่าง ๆ จะมีความหลากหลาย ทั้งในเรื่องชาติพันธุ์ ภาษา วิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม ฯลฯ มีลักษณะเหมือนหม้อใบใหญ่ที่อุดมไปด้วยความหลากหลายความแตกต่าง มีลักษณะของความเป็นพหุสังคมสูง แต่ภายใต้ความหลากหลายเหล่านั้น กลับมีต้นรากทางวัฒนธรรม หรือมีทุนทางวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน จึงเป็นการง่ายที่จะเชื่อมโยงกันได้มากยิ่งขึ้น ผ่านการเรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรมของชาวอาเซียน